งานราชการล่าสุด

จาก 3,000 ไร่ เราตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มให้ได้ 10,000 ไร่ “ผลิตอย่างไรให้ได้เสิร์ฟบนเครื่องบิน”

14 ก.พ. 2559 เวลา 08:43 น. 4,475 ครั้ง

จาก 3,000 ไร่ เราตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มให้ได้ 10,000 ไร่  “ผลิตอย่างไรให้ได้เสิร์ฟบนเครื่องบิน”



นำเสนอข่าวโดย > ทีมงานจ๊อบไทยดีดี ดอทคอม
สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่เตรียมงานสัมมนา... "กล้วย...พืชเศรษฐกิจเงินล้าน” ...เยี่ยมชมกิจการบริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด ผู้ปลูกและผู้ค้ากล้วยหอมรายใหญ่ พื้นที่ปลูกกว่า 3,000 ไร่ ส่งผลผลิตกล้วยหอมป้อนตลาดวันละ 10 ตัน ทั้งตลาดไท ห้างสรรพสินค้าต่างๆ สายการบิน รวมทั้งเซเว่นฯ และอนาคตอันใกล้ยังจะส่งกล้วยหอมสัญชาติไทยไปแจ้งเกิดในหลายประเทศทั่วโลก

ฟังดูมันก็เหลือเชื่อ...ยิ่งรู้ว่าเริ่มต้นจากสวนกล้วยหอม 30 ไร่ ที่แปรสภาพจากสวนส้มย่านรังสิตมาเป็นสวนกล้วย 3,000 ไร่ในวันนี้ ยิ่งไม่น่าเชื่อใหญ่
เห็นทีจะต้องฟังจากปาก ...
“เราเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ และได้ขยับขยายเรื่อยมา เพราะตลาดกล้วยหอมเติบโตรวดเร็วมาก ถึงวันนี้ยังมีความต้องการผลผลิตกล้วยอีกมาก ของเราเพียงอย่างเดียวไม่พอกับความต้องการ จนต้องเพิ่มเครือข่ายไปอีก 1,000 กว่าไร่ และเราตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มให้ได้ 10,000 ไร่ ในปี 2563” นี่เป็นคำพูดของคุณเกรียงศักดิ์ และ คุณเสาวนีย์ วิเลปะนะ 2 สามีภรรยา เจ้าของบริษัท คิงฟรุทส์ จำกัด 
ทั้งคู่มีพื้นฐานการศึกษาจบทางด้านการเกษตร...แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการทุ่มเททำงานอย่างจริงจัง ฝ่ายแรกนั้นลุยเรื่องการผลิต ส่วนฝ่ายหลังลุยเรื่องการตลาด
เริ่มจากการผลิตเองขายเองที่ตลาดสี่มุมเมือง และต่อมาปักหลักที่ตลาดไท พออยู่ตัวก็หันมาลุยตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เดอะมอลล์ แมคโคร ฟู้ดแลนด์ เทสโก้ โลตัส ฯลฯ และรุกคืบไปยังร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ...กระทั่งผลผลิตไม่พอส่ง เอาง่ายๆ เฉพาะเซเว่นฯ ส่งได้แค่วันละ 40,000-50,000 ลูก จากที่ต้องการวันละ 100,000 ลูก...แต่ทั้งหมดก็ไม่ภูมิใจเท่ากับสามารถส่งกล้วยหอมไปยังครัวการบินไทย เพื่อจัดส่งไปเสิร์ฟบนสายการบินต่างๆ อย่างน้อยก็ 3 สายการบินในเวลานี้
“แต่ละที่กว่าจะนำผลผลิตเข้าไปขายได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เราต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานเป็นปีๆ ส่งตัวอย่างแล้วส่งตัวอย่างอีก อย่างสายการบินเขามาชมที่สวน มาดูขั้นตอนการผลิต ว่าเราทำได้จริงไหม เราต้องไม่ย่อท้อ ต้องทำให้ได้ตามที่ลูกค้ากำหนด”

ข้อกำหนดที่ลูกค้าต้องการ คือ กล้วยคุณภาพ “ทุกวันนี้ผลผลิตในตลาดก็มีเยอะนะ แต่ที่ได้คุณภาพจริงๆมีน้อย...เราต้องทำให้ได้ตามที่ตลาดต้องการ อย่างเช่นเรื่องผิวของกล้วยที่จะต้องไม่มีรอยช้ำหรือสีลายสีไม่สวย ความแก่ความอ่อนของกล้วยที่จะต้องพอดี(80%) ขนาดของผลกล้วยก็ต้องได้ตามกำหนด และเรื่องรสชาติก็ต้องหวานสม่ำเสมอ”
สิ่งสำคัญที่สุด ต้องสามารถส่งกล้วยหอมได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครัวการบินไทย ที่นำกล้วยไปเสิร์ฟทั้งผลสด และนำกล้วยไปแปรรูปเป็นขนมต่างๆ จะต้องมีปริมาณกล้วยที่สามารถส่งได้ตลอดทั้งปี
ปัญหาก็คือว่า จะทำอย่างไรให้กล้วยหอมมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ
“เริ่มต้นจากความรัก และความดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่กรรมวิธีการคัดเลือก หน่อพันธุ์ จนถึง กรรมวิธีการผลิต ทุกๆขั้นตอน เพื่อให้ได้กล้วยหอม ที่ปลอดภัย ต่อการบริโภค”
ฟังดูเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ง่าย(นัก) “เพื่อให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ ในทุกๆผลิตภัณฑ์ (มีส่งทั้งผลสด และกล้วยที่ปอกเพื่อนำไปแปรรูป) เราจึงมีทีมงานคุณภาพ นักวิชาการประจำโรงงานผลิต และนักวิชาการประจำสวน ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง”
โดยเฉพาะ การผลิตจะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุกล้วยได้มาตรฐานตามระบบ GMP และ HACCP ทั้งนี้ ในการพูดคุยกับผู้บริหารคิงฟรุ้ทส์ ได้บอกว่าจุดที่ทำให้เติบโตมาได้ก็เพราะทีมงานคุณภาพที่เป็นคนรุ่นใหม่

และในวันที่ไปเยี่ยมชมสวนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้จัดการสวน ทำให้รู้ว่าจะแบ่งการบริหารเป็นโซน จากทั้งหมด 23 แปลงปลูก รวม 3,000 ไร่ ครอบคลุมใน 4 จังหวัด คือ ปทุมธานี นครนายก สระบุรี และอยุธยา จะมีผู้จัดการ 3 คน หนึ่งในผู้จัดการที่ดูแลโซนปทุมธานี บอกว่าตนเองนั้นจบการศึกษาด้านการเกษตรและมีประสบการณ์ในเรื่องการดูแลสวนเกษตรจากประเทศออสเตรเลียมาก่อน “ผมต้องรู้เรื่องดิน ปุ๋ย และอากาศ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด และจะต้องเข้าใจในชีววิทยาของกล้วย ซึ่งจากการที่เข้ามาดูแลได้ 2 ปี คิดว่าปลูกกล้วยไม่มีขั้นตอนใดยากเลย” (ฟังเหมือนง่าย แต่คนที่ไปเยือนรู้สึกว่า ยากอยู่เหมือนกัน)
(สำหรับ การจัดการปลูกกล้วยหอมคุณภาพ ของบริษัท คิงฟรุ้ทส์  ทางเว็บไซต์เกษตรก้าวไกล จะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป)
ถามถึงทิศทางอนาคต ได้รับคำตอบว่า ได้วางแผนการผลิตและการตลาดไว้พร้อมแล้ว
“เราได้ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกจากเครือข่ายเกษตรกรให้ได้ 10,000 ไร่ ในปี 2563 เพราะจากประสบการณ์ของเราพบว่า ตลาดกล้วยหอมยังสามารถขยายได้อีกมาก จากเดิมที่เราตั้งเป้าหมายว่าจะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ แต่เรายังไม่สามารถทำได้ เพราะมีปัญหาผลผลิตไม่พอเพียง แต่จากการเดินสายไปดูแปลงปลูกของเครือข่ายในหลายจังหวัดทำให้เรามั่นใจว่าภายใน 1-2 ปีนี้ เราน่าจะมีความพร้อมที่จะบุกตลาดตรงนี้ โดยคาดว่าจะเน้นการแปรรูปทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ”

พูดคุยเรื่องกล้วยหอมดูเหมือนจะง่ายไปหมดสำหรับ 2 สามีภรรยาคู่นี้ นั่นเพราะได้บุกเบิกแผ้วทางเดินให้โล่งไปมากแล้ว
“ผมคิดว่าทำการทำอาชีพเกษตรจะต้องยกระดับเป็นธุรกิจให้ได้ เพราะถ้าขืนยังทำการเกษตรแบบเดิมๆ ลูกๆคงไม่มาสืบทอด” นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณเกรียงศักดิ์ และคุณเสาวนีย์ ทุ่มเททำงานจนมีวันนี้

ที่มา kasetkaoklai.com

แชร์ข่าวนี้ ให้เพื่อนคุณ และติดตามเราได้ที่ Fanpage.


แสดงความคิดเห็น :

- กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพและไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย
- ห้ามมิให้ผู้ใดโพดขายสินค้าเด็ดขาด
- ข้อความโพสโดยสาธารณชน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ติดตามข่าวบน Facebook กด Like เพื่อไม่พลาดข่าว !!!

งานล่าสุด >>

^